เมื่อสาววัยใกล้ สว. เรียนออนไลน์
และได้ ‘ชาร์จแบตชีวิต’ ไปพร้อมกัน
ก่อนลาออกจากงานเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ดิฉันคิดเพียงว่าอยากหยุดพักเงียบ ๆ สักเดือนสองเดือน อยากหลับให้เต็มอิ่มติดกันหลาย ๆ วันจนกว่าจะพอใจ … แบบได้เข้านอนตอนสามทุ่ม .. ไม่ใช่เพราะเพลียจากงาน แต่เพราะอยากนอนแต่หัวค่ำ .. และได้ตื่นแบบรู้สึกตัวตื่นเอง ไม่ใช่เพราะได้ยินเสียงนาฬิกาปลุก
ดิฉันนึกภาพตัวเองอยู่บ้านทั้งวันเพื่อจัดเก็บทำความสะอาดห้องหับแสนรก กลับเข้าครัว ทำอาหารให้ตนเองกับครอบครัวรับประทาน (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะอร่อยเท่าอาหารปิ่นโตหรือเปล่า) เล่นกับแมวที่แทบจำหน้าเจ้าของไม่ได้แล้ว และประการสำคัญ เป็นเพื่อนพูดคุยกับมารดาวัยกว่าแปดสิบที่ปรกติได้เห็นหน้ากันวันละไม่กี่ชั่วโมง
พอ ‘ชาร์จแบตชีวิต’ จนเต็ม ดิฉันก็จะเริ่มจัดเวลา ‘ทำงาน’ ที่ตนเองรักที่สุด คือการเขียนหนังสือ โดยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะยึดเป็นอาชีพ และน่าจะเป็นอาชีพสุดท้ายในชีวิตที่คิดจะทำไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีกำหนดเกษียณ
ทว่าความเป็นจริงอันโหดร้ายคือ สามเดือนผ่านไป ดิฉันก็ยังเก็บบ้านไม่เสร็จเสียทีแม้ว่าจะมีอะไรให้ทำวุ่นวายทั้งวันและทุกวัน จนเผลอ ๆ จะเหนื่อยกว่าทำงานประจำเสียอีก ส่วนเรื่องเข้าครัว ดิฉันเป็นได้แค่ลูกมือของมารดา หน้าที่หลักคอยหั่นเนื้อ หั่นผัก ทุบกระเทียม ล้างจาน เทขยะ และนอกเหนือจากเวลาเข้าครัว มารดาดิฉันก็จะเพลิดเพลินคุยโทรศัพท์กับเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน เปิดดูข่าวเช้าจรดค่ำ (ทั้งที่ข่าวซ้ำ ๆ แทบทั้งวัน) แถมด้วยการเล่นเกมเฮย์เดย์กับรับ-ส่งข้อความทางไลน์ โดยไม่ได้สนใจจะคุยกับลูกรักสักเท่าไหร่เลย ส่วนเจ้าเหมียวที่ดิฉันเป็นคนเก็บ ‘อึ๊ด’ ในกระบะและคอยเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ทุกวันก็ยังคงหมางเมิน เรียกไม่มา โดดขึ้นแต่ตักคุณยาย ไม่เคยสนใจแม่
ดังนั้น เมื่ออาจารย์ท่านหนึ่งที่ดิฉันเคารพรักเสมือนญาติผู้ใหญ่ แนะนำให้ลองหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการสมัครเรียนออนไลน์กับ CUVIP ดิฉันจึงเข้าเว็บไซต์ไปอ่านรายละเอียดหลักสูตรสั้น ๆ ที่มีอยู่มากมาย ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ หนึ่งในหลักสูตรที่สะดุดตาแต่แรกคือหลักสูตร “การเขียนบทความใน Medium”
อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการเขียน ดิฉันอยากเรียนรู้เป็นทุนอยู่แล้ว ยิ่งการ ‘เขียนในสื่อ’ แบบนี้ ถือเป็นความรู้ใหม่ ดิฉันพลาดไม่ได้แน่นอน ก็เราอยู่ในยุคดิจิทัล สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์กันทุกเมื่อเชื่อวัน ดิฉันจะมานั่งตอกพิมพ์ดีด ส่งต้นฉบับทางไปรษณีย์ รอรับธนาณัติมาขึ้นเงินเหมือนเมื่อห้าสิบปีก่อนอย่างไรได้ ก็ต้องหัด ‘เขียนในสื่อ’ ให้เป็นสิเรา
พอถึงวันเรียน ปรากฏว่าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย นอนสลบไปค่อนวัน มารู้สึกตัวจนห้าโมงเย็น หลังจากลุกไปล้างหน้าล้างตาให้หายมึนงง ก็นึกขึ้นได้ว่าเรามีเรียนออนไลน์นี่นา!! เลยรีบคว้าโทรศัพท์มือถือ (เพราะเร็วกว่าเปิดคอมพ์) มาเปิดอีเมลคลิกลิงก์ Zoom แล้วนั่งรอใจตุ๊มต่อมว่าวิทยากรและผู้ดูแลกิจกรรมจะยังเมตตาอนุญาตให้เข้าอบรมอยู่หรือไม่ ซึ่งต้องขอขอบพระคุณทั้งสองท่านไว้ ณ ที่นี้ เพราะที่สุด ดิฉันก็ได้เข้าชั้นเรียนออนไลน์เอาในสี่สิบห้านาทีสุดท้าย ซ้ำผู้ดูแลกิจกรรมยังกรุณาเช็คชื่อดิฉันว่าไม่ขาดเรียนและให้ทำงานส่งอาจารย์อีกด้วย ซึ่งก็คือบทความที่ดิฉันกำลังเขียนอยู่นี่เอง
คำแรกที่อุทานในใจหลังจากเข้าชั้นเรียนได้ราว ๒ นาทีคือ ‘ขุ่นพระ!’ ทำไมน่ะหรือ? ก็ดิฉันเพิ่งตระหนักว่า “Medium” ในที่นี้ไม่ได้แปลตรง ๆ ตัวว่า “สื่อ” ทว่าคือแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ที่ผู้คนสามารถเข้าไปเขียนและโพสต์เผยแพร่บทความได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย!! มีอะไรแบบนี้ด้วยหรือนี่!
(แล้วทำไมนักแปลอย่างดิฉันจึงไม่เอะใจเมื่อเห็นทนโท่ว่าตัว m ใน “Medium” ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่?!?)
คำว่า ‘มนุษย์ป้า’ คือคำที่สองที่แว่บเข้ามาในหัว ด้วยวัยที่ล่วงเข้าหลักห้า ดิฉันปล่อยให้ตนเองล้าหลังขนาดนี้เลยทีเดียว นาทีนั้น ดิฉันตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะปล่อยบ้านให้รกต่อไปก่อน สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือหาความรู้ใหม่ ๆ ใส่สมองให้มากที่สุด
เวลาสี่สิบห้านาที (ที่จริงอาจารย์กรุณาสอนและตอบคำถามต่อไปอีกพักใหญ่ รวมแล้วนักเรียนโค่งเข้าชั้นเรียนสายอย่างดิฉันเลยได้เรียนรู้ถึงชั่วโมงเศษ ๆ) นั้นช่างล้ำค่า ดิฉันได้เปิดหูเปิดตาและเปิดโลกทัศน์รับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาประดับสมองมากมาย ได้ฟังคำถามของคนรุ่นใหม่ที่ดิฉันไม่เคยนึกถึง ได้ฟังคำตอบที่ละเอียดลออชัดเจนจากอาจารย์ และยังมีโอกาสได้อ่านบทความที่น่าสนใจของท่านอีกด้วย
พอจบการเรียน ดิฉันรู้สึกราวกับหายป่วยเป็นปลิดทิ้ง และใช้เวลาหลายชั่วโมงหลังจากนั้น ‘กูเกิ้ล’ หาความรู้เรื่องแอพพลิเคชั่นสำหรับลงบทความต่าง ๆ โดยพยายามทบทวนความรู้ใหม่ที่อาจารย์เพิ่งถ่ายทอดให้สด ๆ ร้อน ๆ ไปพร้อมกัน
ผลลัพธ์ที่ได้คือบทความแรกในชีวิตของดิฉันที่เผยแพร่ออนไลน์ .. ซึ่งทุกท่านกำลังอ่านอยู่นี่เอง … หากมีคนเปิดอ่านน่ะนะคะ 😁 แต่อย่างน้อย อาจารย์ธงชัย โรจน์กังสดาล (ขออนุญาตเอ่ยนามท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยความเคารพและขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ) ก็บอกลูกศิษย์ไว้ว่าท่านจะเข้ามาอ่านและ ‘ปรบมือ’ ให้พวกเราจนครบทุกคน (แต่ใจก็อยากทราบความคิดเห็นจากอาจารย์ด้วยนะคะ ว่าบทความของลูกศิษย์คนนี้ได้เรื่องได้ราวหรือไม่อย่างไร 🙏)
ดิฉันเชื่อว่ามนุษย์งานทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือมนุษย์เจ้าของกิจการก็ตามที จะต้องมีวันใดวันหนึ่งที่เราตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่า ‘ไฟมอด’ หรือแม้แต่ ‘หมดไฟ’ และต้องการ ‘ชาร์จแบตชีวิต’ ให้เต็มอีกครั้ง
สำหรับตนเองแล้ว ดิฉันพบว่าการชาร์จแบตชีวิตที่ดีที่สุด นอกเหนือจากการนอนให้เต็มอิ่มและเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพ ก็คือการตั้งสติ ปล่อยวาง เพื่อพักหัวใจ และการหาความรู้ใหม่ ๆ ใส่สมองเพื่อตามโลกให้ทัน
สุภาษิตที่ว่า “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” ยังคงใช้ได้ทุกยุคสมัย
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ หากทำได้ ขอให้หาเวลาค้นคว้าและเรียนรู้เพิ่มเติม จะเป็นความรู้ด้านไหน เรียนรู้ในห้องเรียนจริงหรือห้องเรียนออนไลน์ ล้วนนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตของเราได้ทั้งนั้น
ไม่ว่าคุณจะเป็น สว. แล้วหรือใกล้จะเป็น สว. ขออย่าได้กลัวการเรียนออนไลน์ อย่ากลัวเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่ากลัวว่าตัวเองจะเปิ่น จะเชย จะคุยกับใครไม่รู้เรื่อง จะฟังเนื้อหาไม่เข้าใจ จะตามเขาไม่ทัน ฯลฯ
สำคัญที่สุด อย่ากลัวที่จะเตรียมพร้อมเพื่อคว้าโอกาสในการเรียนรู้เอาไว้เสมอ
ในเมื่อเราเดินทางอยู่บนโลกใบนี้ ที่หมุนเร็วขึ้น ๆๆ ทุกวัน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน และผ่านสารพัดวิกฤตในชีวิตมาได้เป็นหลายสิบปี ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่เราต้องกลัวอีกแล้ว จริงไหม?
ดิฉันขอให้ทุก ๆ วันของเราทุกคน .. ไม่ว่าคุณจะเป็น สว. หรือไม่ … เป็นวันที่เราตื่นขึ้นมาพร้อมความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เพื่อ ‘ชาร์จแบตชีวิต’ ของตนเองให้เต็มเปี่ยมอยู่เสมอค่ะ